Wednesday, April 25, 2018

ปรัชญาการเมืองที่แตกต่าง วิถีชีวิตก็ต่างกัน ( Difference in Political Philosophy, Total Difference in Living Standards )

ปรัชญาการเมืองที่แตกต่าง วิถีชีวิตก็ต่างกัน
( Difference in Political Philosophy, Total Difference in Living Standards )

ณ. ดินแดนอารยธรรมในเอเซียอาคเนย์ ที่มีพื้นที่มากกว่า 500,000 ตร. กม. พื้นที่ที่ใครต่อใครก็พูดเสมอว่า เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม จนมีคำกล่าวเป็นเอกลักษณ์ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินอุดมสมบูรณ์"  ดินแดนที่มีชนเผ่ามากมายไม่น้อยกว่า 70 ชาติพันธุ์ มีอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม และภาษาไม่น้อยกว่า 5 กลุ่มภาษาหลัก ที่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ เฉกเช่น ในดินแดนอเมริกา ในยุโรปหลายประเทศ อาทิ เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น 

ประเพณี วัฒนธรรมธรรม และภาษา คือตัวกำหนดบทบาทพื้นฐานของการดำรงชีวิต หรือจะเรียกว่า วิถีชีวิต ( Lifestyles ) ก็ได้ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่ได้มาแต่กำเนิดตามบรรพบุรุษของตน ซึ่งอัตลักษณ์ของการดำรงความเป็นชาติพันธุ์จะแน่นหนาแน่นแฟ้นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับลูกหลานที่สืบเชื้อสายต่อๆกันมาจะดำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ดีอย่างไร จะมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเช่นไร  นี่คือพื้นฐานที่ประชากรในชาตินั้นๆต้องเข้าใจร่วมกันว่ากว่าจะเป็นประเทศหนึ่งประเทศใดได้ มันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของแต่ละชาติพันธุ์ที่เป็นเจ้าของถิ่นฐานดั้งเดิมของตนอยู่อาศัยมานานนับหลายร้อยปี พันปี มาแล้ว และถ้าศึกษาให้ลึกซึ้งแตกฉาน จะเห็นได้ว่า ไม่มี ชนชาติไทย อาศัยอยู่แม้แต่คนเดียวในดินแดนแห่งนี้เลย  ชนชาติไทย  ที่ว่าจึงเป็นการอุปโลกตัวเองขึ้นมาในยุคปัจจุบัน ที่ไม่มีมูลความจริงอยู่เลย ไม่มีการอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆเลย เป็นการหลอกลวงคนในชาติมากกว่าในเรื่องการดำรงเชื้อชาติไทย และเหตุใดจึงต้องสร้างบริบท และอัตลักษณ์ที่แปลกปลอมเหล่านี้ขึ้นมาลวงกัน เพื่ออะไร? เพื่อประโยชน์ของใคร?

คำตอบที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคือ "อำนาจและผลประโยชน์ของผู้ต้องการปกครองดินแดนที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้" อำนาจและผลประโยชน์ นี่แหละที่เรียกว่า การเมือง

ปรัชญา ก็คือเรื่องของการดำรงชีวิตที่นำเอาทุกแขนงสาขาวิชาการมาประยุกต์ใช้ให้มีการดำรงชีวิตประจำวันของตน จะดีขึ้นหรือจะเลวลง เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง ดังนั้น ศาสนา รัฐศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จริยธรรม จรรยา เทคโนโลยี หรือแม้แต่การดำรงชีวิตแบบ ทำไร่ ไถนา ทำสวน การประมง เป็นต้น

ผู้ปกครองที่แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ จึงพยายามเอาหลักปรัชญาที่จะมีอิทธิพลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของคนในชาติให้ยึดโยงเข้าด้วยกันได้ ในขณะที่ตนสามารถควบคุมและดำรงความเป็นใหญ่เหนือผู้คนจำนวนมากๆได้อย่างยาวนาน จึงรวมเอา ศาสนา รัฐศาสตร์ โดยมีกฎหมายมาเป็นกรอบให้ คนในชาตินั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครองที่สร้างกฎเกณฑ์กำหนดบทบาทของสังคมให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ คำจำกัดความของวิธีการเหล่านี้จึงเรียกรวมๆว่า การเมือง

นานนับพันปี หลายยุคหลายสมัย วิธีคิดของผู้ปกครอง เป็นแบบนี้มาตลอด มีระบบทาส มีระบบเจ้าขุนมูลนาย มีระบบการเอื้อผลประโยชน์กัน ใครต้องการอำนาจเหล่านั้นก็ต้องตะเกียกตะกายกันขึ้นมา จะด้วยวิธีใดก็ตาม ล้วนมีที่มาจากปรัชญาการเมืองแบบเอารัดเอาเปรียบ เหยียดความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นปกติธรรมดาของโลกมายาวนาน แต่ในขณะเดียวกันในมุมมืดของผู้ที่ด้อยกว่า ผู้ที่ถูกปกครอง ก็ย่อมได้รับความทุกข์ทรมาน หมดโอกาส ในการแสดงความเป็นคน เฉกเช่นเหล่าผู้ปกครอง เจ้าขุนมูลนายได้เลย จึงจำเป็นต้องยอมรับการถูกกำหนดบทบาทให้ตนเอง เป็นผู้ร้องขอ เป็นผู้น้อย เป็นผู้ติดตามรับใช้ เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจ จะพูด คิด กระทำ สิ่งใดแล้ว ต้องระมัดระวัง กลัวว่าจะมีภัยถึงตัว กลัวว่าจะขาดที่พึ่งพิง กลัวสารพัด ก็เพราะสังคมนั้นกำหนดบทบาทของชนชั้นไว้แล้วอย่างแน่นหนา จนดูเหมือนยากเหลือเกินที่จะสลัดจากพันทนาการเหล่านี้ได้

เหตุก็เพราะผู้ปกครองได้สร้างวิธีการสารพัดมาล้างสมองให้คนในชาตินั้น หลงงมงายอยู่กับ หนี้บุญคุณมหาศาลของผู้ปกครอง ที่พยายามทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อสังคม เพื่อประชากรของตน พยายามปลูกจิตสำนึกคนด้วยคำกล่าวอ้างของศาสนา ในเรื่อง บาป บุญ คุณโทษ เวรกรรม แต่ชาติปางก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า สารพัดที่จะสรรหา มาล่อหลอก สั่งสอนคนในชาติ ให้ตกเป็นเครื่องมือ ชูให้ผู้ปกครอง สูงสง่า ดีเลิศเป็นอัฉริยา กว่าใครๆ โดยใช้สารพัด สื่อสารมวลชนทุกแขนง ใช้องค์กรสถาบันการศึกษา และทุกสาขาอาชีพ มาดำรงให้สถานะของผู้ปกครองนี้อยู่ได้ต่อไปอย่างสูงค่า

ผู้ปกครองมีอยู่ทุกระดับตั้งแต่ระดับเล็กๆใน ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล เทศบาล อำเภอ จังหวัด ไล่เลยไปถึงผู้ปกครองสูงสุดของชาติ จึงสังเกตได้ชัดเจนว่า ทุกขั้นตอนต่างหวังสร้างกรอบ กติกา ให้ตนดำรงความมีอำนาจเพื่อเอื้อให้ตนได้รับผลประโยชน์สูงสุดในระดับขั้นนั้นๆ ซึ่งรวมไปถึงพ่อค้า นายทุน ต่างก็จำเป็นต้องเข้าร่วมระบบนี้ เพื่อจะได้อยู่รอดปลอดภัยให้ได้
ผู้ปกครองจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ประชาชนในชาติ ไม่สนใจการเมือง เกลียดกลัวการเมือง ทำให้สับสนในเรื่องรัฐธรรมนูญ ข้อบัญญัติต่างๆในกฎหมาย ภาษาของกฎหมายที่ต้องตีความ ให้ประชาชนสนใจแต่ในเรื่องเฉพาะตน สนใจในเรื่องความงมงายหวังที่พึ่งพิงทางจิตวิญญาณ มุ่งแต่จะยึดเอาบุคคลเป็นสรณะ มากกว่าเอาหลักเหตุผล ความจริงเป็นบทบาทนำชีวิตตน

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือ ตัวอย่างของ สังคมที่ถูกกำหนดบทบาทจากผู้ปกครอง ถ้ามีผู้ปกครองดี อย่างน้อยก็จะทำให้ส่วนรวมดีขึ้นบ้าง แต่ถ้ามีผู้ปกครองที่เลว สังคมก็ยิ่งกว่าเลวร้าย ทั้งนี้ทั้งนั้น สังคมที่สร้างแนวคิดที่มีผู้ปกครอง จึงเป็นสังคมแค่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเป็นหลักเท่านั้น แต่ไม่ใช่ส่วนรวม

มันจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าในทางกลับกัน ในประเทศนั้นๆ ในพื้นที่ดินแดนอาณาเขตนั้นๆ ไม่มีระบบการมีผู้ปกครองเป็นใหญ่ ไม่มีระบบเจ้าขุนมูลนาย ไม่มีระบบศักดินา แต่มีประชาชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นผู้กำหนดบทบาทของสังคมกันเอง เนื่องด้วย เห็นคุณค่าของความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน มีสิทธิ์เสรีภาพเสมอกันโดยอาศัยกรอบกติกาหรือกฎหมายเดียวกันที่ให้ความสำคัญในมนุษย์ที่เท่ากัน สังคมนั้นจะไม่มีคำว่า ผู้ปกครอง หรือ ผู้ถูกปกครอง อีกต่อไป มันจะมีแต่ ประชาชน ประชาชน และประชาชน เท่านั้น
เมื่อไม่มีผู้ปกครองแล้ว มีแต่ประชาชนที่เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน หันหน้าเข้าหากัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของตนร่วมกัน จากความต้องการตามอัตลักษณ์ตามถิ่นกำเนิดของตน มีภาษา มีประเพณีวัฒนธรรมของตน บริหารจัดการกันเอง มีอำนาจในการดูแลจัดสรร ปันส่วน ทรัพยากรในพื้นที่กันเอง มีการบริหารรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรง ทางอ้อม กันเอง มีการพัฒนาสังคม ชุมชน ให้มีภูมิทัศน์ที่ดี มีความสะอาด ปลอดภัย กันเอง โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกัน สร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เข้าถึงได้อย่างทั่วถึงกันเอง มีระบบสวัสดิการที่ช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งของพี่น้องร่วมชาติให้มีศักยภาพสูงสุดกันเอง 
ในรูปแบบการเมืองแบบนี้ จะมีไม่ผู้ปกครองอีกต่อไป จะมีแต่ ผู้เป็นตัวแทนที่ได้รับการมอบอำนาจเป็นฉันทามติจากประชาชน ผู้แทนประชาชนจะต้องทำตามความต้องการของประชาชน ผู้แทนเหล่านั้นอาสามาทำงานเพื่อทำให้ท้องถิ่นนั้นๆ มลรัฐนั้นๆ หรือจะเป็นรัฐบาลกลาง ก็ตาม จะไม่ใช่ผู้มีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน จะไม่ใช่เป็นผู้มีบุญคุณเหนือประชาชน จะไม่ใช่ผู้ที่สามารถเอาอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมาจากประชาชนมาหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้องอีกต่อไป และผู้แทนประชาชนเหล่านั้นจะต้องถูกตรวจสอบได้เสมอด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม 

นี่คือการแสดงเหตุผลในแบบที่ง่ายๆว่า ปรัชญาทางการเมืองที่มีความแตกต่างกัน ก็จะสงผลในการดำรงชีวิตมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่า เราเลือกที่จะให้ตัวเราเป็นเช่นไร อยากเป็นทาส เป็นเบี้ยล่างของผู้ปกครอง เพราะว่าตนมีนิสัยความเคยชินกับการร้องขอ เรียกร้องหาที่พึ่งตลอดเวลา ก็เหมาะสมแล้วที่จะนิยมดำรงใช้ชีวิตในรูปแบบการเมืองการปกครองที่ต้องมีผู้ปกครองมาชี้นำชีวิตตนไปทุกทิศทางตามแต่บุญพาวาสนาส่งของตนที่ทำมาทุกภพชาติ

หรือเลือกที่จะเห็นคุณค่าในความเป็นคนที่เท่ากันของตน ไม่ต้องการแล้วผู้ปกครอง จึงไ่ม่มีการเมืองการปกครองอีกต่อไป มีแต่นิยามที่ว่า การเมืองการบริหารประเทศ บริหารรัฐ บริหารท้องถิ่น มีตัวแทนมาช่วยทำงานแทนประชาชนที่เป็นทั้งเจ้าของแผ่นดิน ทรัพยากร ร่วมชาติเดียวกัน เป็นประชาชนที่มีสิทธิ์เต็มบริบูรณ์ 100% ในอำนาจอธิปไตย ที่มีองค์ประกอบคือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ เสมอกัน ไม่ใช่เหมือนที่ เขาเขียนหลอกไว้ในการเมืองแบบมีผู้ปกครองว่านั่นคือประชาธิปไตย  (มันแค่เสี้ยววินาทีแค่เข้าคูหาหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น) เวลาที่เหลือ คืออำนาจอธิปไตยของผู้ปกครอง ส่วนผู้ถูกปกครองก็รับชะตากรรมบันดาลของตนไปชั่วนาตาปี

อยากเป็น ทาส ต่อไป ก็ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพื่อสนับสนุนให้ผู้ปกครองมีอำนาจ วาสนาบารมี กินภาษีของเราต่อไป เข้าไปปฏิรูปแก้กฏหมายในระบอบโจรต่อไป และก็อาจจะเดินเลยไปสู่อนาคตที่ถูกหลอกไว้หลายชั้นปูทางให้เข้าทางผู้ปกครองคนใหม่ต่อไปเพราะโครงสร้างเดิมยังอยู่ยั้งสถาพร ระบอบใหม่ที่หวัง เอาฐานมวลชนมาหากิน มาเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก สู้เป็นสเต็ปๆเป็นขั้นเป็นตอน แล้วให้ผู้ปกครองเดินย่ำบนกองเลือดประชาชนเพื่อไปสู่ฐานอำนาจใหม่ที่เขาหลอกลวงไว้ว่าคือประชาธิปไตย ในรูปแบบ สาธารณรัฐ ( ถ้ายังมีโครงสร้างอำนาจผลประโยชน์ของผู้ปกครองอยู่ก็ไม่ต่างกัน )

อยากเป็น ไท ก็มีแค่ทางเดียวประตูเดียว คือ เลือกเดินทางแห่งความเป็นมนุษย์ ปฏิวัติล้างโครงสร้างของผู้ปกครองให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้ว สถาปนาสร้างระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดจริงๆ ไม่มีผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองอีกต่อไป ระบอบนี้เป็นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ระบอบนี้เรียกว่า สหพันธรัฐ ที่ประกอบไปด้วย รัฐ หลายรัฐ ที่มีประชาชน รวมตัวกันในพื้นที่ถิ่นฐานของตนเข้าด้วยกัน สามัคคีกัน เป็นประเทศที่สร้างขึ้นเพื่อประชาชน โดยประชาชน อย่างแท้จริง ประเทศบนพื้นที่ 500,000 กว่า ตารางกิโลเมตร ที่เรียกว่า  สหพันธรัฐไท หรือ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษง่ายๆ สั้นๆว่า Thai Federation โดยมี 

หลักปรัชญาทางการเมือง 4 ประการ ( Principle of 4 ) คือ
1. เสรีภาพพื้นฐานเสมอกัน ( Freedom of the Humanity )
2. ความเท่าเทียมกันในมนุษย์ ( Equality of Humanity )
3. ภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตตน ( Intelligence of Humanity )
4. ปัญญาวิสุทธิ์ ( Wisdom of Humanity )



ไม่ต้องมัวสร้างวาทกรรม ตรรกะ ไปถามใคร ถามตัวเองให้ได้ และตอบตัวเองให้ได้ก็พอ

No comments:

Post a Comment

ธงสหพันธรัฐไท

ธงสหพันธรัฐไท Thai Federation Flag